ตั้งแต่เริ่มเข้าหน้าร้อนมาในปีนี้ คนไทยก็ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด แดดอันร้อนแรง แผดเผา และความอบอ้าวขั้นสุด ที่ทำเอาหลาย ๆ บ้านไม่อยากจะออกไปไหน และเปิดแอร์เพื่อดับความร้อนตลอดทั้งวัน
พื้นที่ในหลายจังหวัดมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จนติดอันดับต้น ๆ ของเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก โดยล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าบางพื้นที่ในไทย เช่น เขตบางนา มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุดถึง 50.2 องศาเซลเซียส ทำให้ผู้คนตกใจและกังวลว่าในอนาคต หากเมืองไทยอากาศร้อนแตะ 50 องศาเซลเซียสจะอันตรายมากเพียงใด
แน่นอนว่า อากาศที่ร้อนจัดมักมาพร้อมกับความไม่สบายตัว เหงื่อออกง่าย ตัวร้อน รวมไปถึงอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตลอดจนโรคประจำหน้าร้อนที่อันตรายถึงชีวิตอย่าง “โรคลมแดดหรือ ฮีตสโตรก”
ภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน ซึ่งจริง ๆ แล้วแพทย์ชี้ว่าเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยกรมอนามัย ได้เตือนประชาชนถึงภัยหน้าร้อน แนะให้งดทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเที่ยงถึงบ่าย เน้นทำกิจกรรมในร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก นอกจากนี้ ควรสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี และที่สำคัญคือดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมากมาย
- ระหว่างออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดร้อน ๆ จนเสียเหงื่อมาก ควรคอยเติมน้ำให้ร่างกายด้วยการจิบน้ำทุก 15 นาที การจิบน้ำจะสามารถป้องกันสภาวะร่างกายขาดน้ำได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการดื่มทีละมาก ๆ
- เมื่อรู้สึกคอแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง แสดงว่าร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ควรรีบจิบน้ำอยู่เรื่อย ๆ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิงเวียนจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้
- เมื่อรู้สึกตัวร้อนมาก ใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ มึนงง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอาจกำลังมีอาการฮีตสโตรก ควรรีบนำผู้ป่วยเข้าที่มีอากาศเย็น และถ่ายเท ถอดเสื้อผ้าที่รัดออก ประคบตัวด้วยผ้าเย็น และค่อย ๆ ดื่มน้ำสะอาด เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายโดยทันทีและบรรเทาไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง