สมศ. ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 27 แห่ง ในนาม “ศูนย์ประสานงาน สมศ.”ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ร่วมขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ให้กับสถานศึกษาจำนวน 133 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2566
โดยการนำประเด็นข้อเสนอแนะที่ได้จากรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษามาวิเคราะห์ พร้อมจัดทำเป็นแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาในระยะสั้นและระยะยาว โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมแก่สถานศึกษา พร้อมเปิดรับสมัครสถานศึกษาจำนวน 150 แห่งที่สนใจเข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568
ดร. นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า สมศ. ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 5 ปี และรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาแก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งจากการประเมินคุณภาพภายนอกที่ผ่านมา พบว่าภายหลังจากที่สถานศึกษาได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ. แล้ว สถานศึกษาบางส่วนยังไม่ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของตนเองแบบทันทีทันใดและต่อเนื่อง ทำให้ข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะจากการประเมินคุณภาพภายนอกไม่เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเท่าที่ควร
ดร.นันทา กล่าวต่อว่า สมศ. จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โดยดำเนินการร่วมกันภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา” ระหว่าง สมศ. ภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 27 แห่ง ในนาม “ศูนย์ประสานงาน สมศ.” ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการนำผลประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา” ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษานำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้ โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ด้วยการนำประเด็นข้อเสนอแนะที่ได้จากรายงานการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษามาวิเคราะห์ พร้อมจัดทำเป็นแผนพัฒนาในระยะสั้นและระยะยาว ที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมแก่สถานศึกษา และยังเป็นการกระตุ้นให้สถานศึกษาจัดทำกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามวงจรควบคุมคุณภาพ (PDCA)
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 มีสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนรวม 133 แห่ง โดยพบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความพึงพอใจที่มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญ เข้ามาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับวิเคราะห์หาจุดเด่นที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นและจุดที่ควรพัฒนาเพื่อวางแผนการยกระดับคุณภาพให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาในแต่ละแห่ง จากความสำเร็จดังกล่าว สมศ. และสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 27 แห่ง ในนาม “ศูนย์ประสานงาน สมศ.” จึงได้วางแผนขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการนำผลประเมินไปใช้พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 – พ.ศ.2568 เพิ่มเติมอีกจำนวน 150 แห่ง