ชวนเปิดประสบการณ์รับเทศกาลฮาโลวีน มาทำความรู้จักกับ 30 ผีท้องถิ่น พร้อม ‘เจอดี’ กับเรื่องเล่าผีที่มีมากกว่าแค่ความหลอน ไปกับนิทรรศการ “The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า” ณ TCDC กรุงเทพฯ

หากเอ่ยถามถึง “ผีไทย” ในความทรงจำ ชื่อที่หลายคนนึกถึงก่อนอาจเป็น ผีแม่นาคพระโขนง ผีกระสือ หรือผีปอบ ผีไทยสุดฮอตที่โลดแล่นอยู่บนสื่อต่าง ๆ จนทำให้เกิดภาพจำที่มีทั้งความสยองขวัญ และความน่ากลัว

ที่ผลัดกันเวียนมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจนถึงทุกวันนี้ แต่ทว่าประเทศไทย ยังมีขุมทรัพย์แห่งจินตนาการ จากตำนานความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องผี โดยเฉพาะเรื่องของ “ผีท้องถิ่น” ที่พร้อมให้ทุกท่านได้เข้ามาทำความรู้จักและร่วมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ในการเปลี่ยนความกลัวเป็นพลังขับเคลื่อนจินตนาการไปด้วยกันผ่านนิทรรศการ “The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า”

CEA จับ ‘ผีท้องถิ่น’ มาแต่งตัวใหม่ สู่คาแรกเตอร์หลอนปนคิวต์ในนิทรรศการ ‘The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า’

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์กรมหาชน) หรือ CEA นำเสนอเรื่องราวของผีท้องถิ่น ทั้ง 30 ตน จากทั่วฟ้าเมืองไทย ที่ถูกเปลี่ยนจากรายงานศึกษากระบวนการพัฒนา Local Assets to Local Stories (ใช้เผยแพร่ภายในองค์กรเท่านั้น) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูลคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านผลงานการสร้างสรรค์จากการตีความผีท้องถิ่นของ 6 ศิลปินไทย ได้แก่ Linghokkalom, Ployjaploen, Autumnberry, MarkSuttipong, Tiicha และ Twofeetcat สู่คาแรกเตอร์ผีร่วมสมัยกว่า 90 แบบ โดยใช้ความลึกลับกลายเป็นเครื่องมือแห่งการสร้างสรรค์ จินตนาการจากความกลัวในรูปแบบของ “ผี” ถูกนำมาใช้หลากหลาย จากตำนานที่สร้างขึ้นเพื่อการสั่งสอน ให้ระมัดระวัง การขู่ให้เกิดความระเบียบเรียบร้อยในสังคม หรือการจูงใจให้เกิดความร่วมมือ จนมาถึงยุคใหม่ที่ “ผี” ถูกตีความให้มีความน่ารักน่าชังมากขึ้นในภาพยนตร์และแอนิเมชัน  รวมถึงการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ที่สามารถดัดแปลงเป็นสินค้าและสื่อดิจิทัลที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และกลายเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ที่กำลังเติบโต

ต้นทางความคิดจาก “งานวิจัย” สู่นิทรรศการผีพื้นบ้านสไตล์ไทยที่แปลกใหม่กว่าเดิม

ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ ศาสนาความเชื่อ ภูมิหลังทางวัฒนธรรมของกลุ่มชน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์ผีในจินตนาการแตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ผีในแต่ละภูมิภาคจึงมีความแตกต่างกัน รวมถึงผีในวัฒนธรรมหลักกับผีในวัฒนธรรมรอง คือ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความพิเศษโดดเด่นออกไป หากไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ผีที่มีคุณค่าเหล่านี้ก็อาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลาได้ จึงเกิดเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญที่รวบรวมรายชื่อ และลักษณะของผีพื้นถิ่นไทยที่น่าสนใจจากทุกภูมิภาค และนี่จึงกลายเป็นวัตถุดิบชิ้นสำคัญที่ CEA เลือกหยิบมาเป็นต้นทางนิทรรศการในครั้งนี้ โดยได้แบ่งกลุ่มผีพื้นถิ่นออกเป็น 6 กลุ่มวัฒนธรรมได้แก่ผีภาคเหนือ ผีภาคอีสานเหนือ ผีภาคอีสานใต้ ผีภาคใต้ ผีภาคกลาง และผีชาติพันธุ์ ซึ่งในแต่ละกลุ่มวัฒนธรรมก็ได้เลือกผีที่มีลักษณะโดดเด่นน่าสนใจ ทั้ง ‘ผีร้าย’ ซึ่งเป็นผีที่มีความเชื่อว่ามีลักษณะน่ากลัว สยดสยอง และคอยหลอกหลอนให้ผู้คนเกิดความตกใจกลัวจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และ ‘ผีดี’ ซึ่งเป็นผีที่มีความเชื่อว่าไม่ได้มีลักษณะที่น่ากลัว และยังมีความสามารถในการปกป้อง หรือให้คุณแก่ผู้คน นอกจากนี้แล้วผีที่จะเข้าเกณฑ์ได้มาเฉิดฉายในนิทรรศการ The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่าครั้งนี้ จะต้องเป็นผีท้องถิ่นตัวจริงตามความเชื่อดั้งเดิม ไม่ใช่ผีที่ร่วมสมัยอย่างคุณยายสปีด หรือผีที่มีความปัจเจกเป็นตัวของตัวเองอย่างผีธี่หยดหรือแม่นาค จึงทำให้นิทรรศการครั้งนี้ อัดแน่นไปด้วยคาแรกเตอร์ผีที่มีความแปลกใหม่ และเชื่อว่าหลาย ๆคนน่าจะไม่เคยได้ยินชื่อผีเหล่านี้แน่นอน

3 โซนต้องเช็คอิน พร้อมฟินแบบหลอน ๆ กับกิจกรรม ‘ล้อมวงฟังเรื่องผี – ร่วมครีเอตคาแรกเตอร์ - เจอผีท้องถิ่น’

ในนิทรรศการ ‘The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า’ จะเล่าเรื่องราวผ่านส่วนจัดแสดง 3 โซนหลักได้แก่ โซนที่ 1 ‘ปลุกตำนานผีท้องถิ่น’ โซนที่จะบอกเล่าแนวคิดเริ่มต้นในการนำผีท้องถิ่นมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มคุณค่า และความน่าสนใจให้ผีเหล่านั้นได้มีโอกาสโลดแล่นในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น โดยโซนนี้จะชวนทุกคนมาวอร์มอัพ ปลุกความรู้สึกหลอนด้วยการล้อมวงฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีท้องถิ่นจากสื่อออนไลน์ยอดฮิต โดยเรื่องผีทั้งหมดจะถูกถ่ายทอดจากวิทยุทรานซิสเตอร์ตัวจิ๋ว บนแคร่ไม้เก่า ซึ่งจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่ากำลังได้ฟังเรื่องเล่าผี ในบรรยากาศหลอนแบบพื้นถิ่นจริง ๆ ต่อด้วยการชวนทุกคนมาร่วมปลดปล่อยไอเดีย ปลุกความเป็นนักสร้างสรรค์ในตัวเองด้วยการฟังการบรรยายคาแรกเตอร์ผีท้องถิ่น แล้วถ่ายทอดลักษณะของผีผ่านการวาดภาพ ซึ่งผลงานการวาดของทุกคนก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยเติมเต็มนิทรรศการนี้ให้สมบูรณ์มายิ่งขึ้นด้วย

ต่อด้วยโซนที่ 2 ‘สวัสดีผีใหม่’ ที่จะพาทุกคนไปรู้จักผีพื้นบ้านตัวละครลับที่ถูกคัดสรรมาแล้วทั้ง 30 ตนจากทั้ง 6 กลุ่มวัฒนธรรมทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็น ผีภาคเหนือ ที่จะได้เจอกับผีม้าบ้อง ผีตาวอด ผีกละหรือผีกะ ผีปกกะโหล้ง และผีสุดน่ารักอย่างผีไก่น้อย ผีภาคอีสานเหนือ ที่พาเหรดตัวแทนความเชื่อ ในฝั่งวัฒนธรรมอีสาน-ลาว ที่มีทั้งผีชื่อคุ้นหูอย่างผีปอบ และผีกองกอย มาพร้อมกับผีชื่อแปลกอย่างผีเป้า ผีพื้ม และผีสม่อยดง ที่เป็นผีที่จะปรากฏกายเฉพาะพื้นที่อีสานเหนือเท่านั้น หลอนกันต่อกับ ผีภาคอีสานใต้สะท้อนวัฒนธรรมอีสาน – เขมร โดดเด่นด้วยชื่อที่ฟังแล้วพอจะเดาได้ว่าได้รับอิทธิพลจากภาษาเขมรมาอย่างเข้มข้น ทั้งมะเร็ญก็องเวียล (ผีหัวแสง) จแกคเมา (ผีหมาดำ) ทมบ (ปอบ) อ๊าบ (กระสือ) และมนายสโนน / มนายเดอม (ผีแม่ซื้อหรือแม่เกิด) จากผีฝั่งอีสานมาต่อกันที่ ผีภาคใต้ ที่ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้พบกับผีหลังกลวง ผีกลิ้งกลางดง ผีกล้วยพังลา ผีไผ่ขาคีม และผีพราย ก่อนจะย้ายมาหลอนกับ ผีภาคกลาง กับเหล่าผีชื่อแปลก ที่อาจทำให้หลายคนเซอร์ไพร์สว่ามีผีเหล่านี้จริงๆหรือไม่อย่าง ผีตะมอย ผีโขมด ผีตาพุก ผียายกะลาตากะลี และผีแม่เตาไฟ นอกจากนี้แล้วยังมี ผีชาติพันธุ์จากภูมิภาคต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ทั้งผีเชอเยาะ ผีญาเงาะ หน่าโกว ด๊าปอ (นา) ส่งฮ์ และมะนะ ซึ่งเป็นผีตามความเชื่อชาติพันธุ์ต่างๆอย่างเช่นกลุ่มชาวกะเหรี่ยง หรือชาวจีน เป็นต้น

โดยผีทั้ง 30 ตน ได้ถูกพัฒนาเป็นคาแรกเตอร์ร่วมสมัยกว่า 90แบบที่ไม่ได้ถูกตีกรอบ การสร้างสรรค์ให้มีแต่ความน่ากลัวเท่านั้น แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่ผีท้องถิ่นจะถูกหยิบมาตีความในมุมมองใหม่ให้น่าสนใจ ถ่ายทอดคาแรกเตอร์ด้วยลายเส้นที่มีความน่ารักมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังเก็บรายละเอียดที่เป็นจุดเด่นของผีแต่ละตัวออกมาอย่างชัดเจน จนออกมาเป็นคาแรกเตอร์ผีตัวการ์ตูน ที่สามารถนำไปใช้งานต่อในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างลงตัวอีกด้วย นอกจากนี้แล้วในนิทรรศการยังอธิบายทั้งลักษณะเด่น จุดน่าสนใจ รวมถึงตำนานเรื่องเล่าของผีแต่ละตัว ให้ผู้ที่สนใจได้อ่านกันแบบเพลิน ๆ อีกด้วย

และมาถึงโซนที่ 3 ‘เตรียมเดบิวต์’ ที่จะชวนทุกคนมาสำรวจข้อมูลผีท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค พร้อมมองภาพของผี และตำนานเรื่องเล่าท้องถิ่นในมุมมองที่กว้างกว่าการเป็นเล่าเรื่อง แต่สิ่งเหล่านี้ยังมีมูลค่าในฐานะต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สามารถหยิบนำไปเป็นคอนเทนต์ต่อยอดในอุตสาหกรมสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร เกม หรืออาจจะไปอยู่ ในรูปแบบอาร์ตทอยที่กำลังเป็นที่นิยมได้ พร้อมยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมนิทรรศการได้แชร์ ‘ผีท้องถิ่นที่ยังไม่เคยถูกเล่า’ เพิ่มเติมเผื่อให้ผู้ที่สนใจอาจจะไปหาข้อมูลต่อไปได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมี ช่องทาง IG : @theuntoldstory.exhibition ให้ผู้เข้าร่วมนิทรรศการได้แชร์ผีท้องถิ่นของตนเองที่น่าสนใจ หรือจะถ่ายรูป หรือวิดีโอแล้ว tag บรรยากาศความหลอนมาหากันได้ หรือใครที่ไม่ได้มีโอกาส มาเยี่ยมชมนิทรรศการ The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่าที่ TCDC กรุงเทพฯ ก็ยังจะได้รู้จักผีใหม่ ๆ และชมบรรยากาศความหลอนผ่านทางอินสตาแกรมนี้ได้เช่นเดียวกัน

จาก ‘จักรวาลผีท้องถิ่น’ สู่ “จักรวาลงานสร้างสรรค์”

CEA ไม่ได้นำเสนอความหลอน หรือพาทุกคนไปรู้จักแค่เพียงผีพื้นถิ่นหน้าใหม่แต่เพียงเท่านั้น แต่จากนิทรรศการนี้ยังจะพาทุกคนไปต่อยอดสู่ 5 กิจกรรมน่าสนใจที่มีทั้งพาไป ‘รู้’ ลึกเรื่องผีพื้นถิ่นให้มากขึ้นในเชิงคติชนวิทยา ต่อยอดความ ‘หลอน’ กับการล้อมวงเล่าเรื่องผีกันแบบสดๆ พร้อมเรียนรู้เทคนิคการเล่าเรื่องผีอย่างไรให้น่าสนใจยิ่งกว่าเดิม และ ‘เจาะลึก’ หาความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดเรื่องผีท้องถิ่น หยิบทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดให้เกิดเม็ดเงินในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เริ่มกันที่ กิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อป ‘คาแรกเตอร์ผีไทยกับความเข้าใจเรื่อง IP’ กิจกรรมที่จะชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ และการพัฒนาต่อยอดเรื่องผีท้องถิ่นสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม จากเรื่องเล่าตำนานสยองขวัญภายในท้องถิ่นสู่ความเป็นไปได้ใหม่ในการนำเสนอผ่านการออกแบบคาแรกเตอร์ พร้อมสร้างความเข้าใจในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้วิทยากรร่วมพูดคุยทั้งรองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณภเชศ จารุมนต์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) กรมทรัพย์สินทางปัญญา และตัวแทนครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการทั้ง Twofeetcat และ Linghokkalom ที่จัดกันไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา

แต่ถ้าใครพลาดกิจกรรมแรกไปแล้วไม่ต้องเสียใจ เพราะกิจกรรมถัดมาจะพาทุกคนไปหลอนกันมากกว่าเดิมกับ ‘กิจกรรมเล่าเรื่องผี Halloween Night’ ฟังเรื่องผีในนิทรรศการหลอนในวันปล่อยผี กับนักเล่าเรื่องผีคนดังทั้งครูตรีมีเรื่องเล่า และคุณมิ้น เรซูเม่ พร้อมมาแชร์เทคนิคการเล่าเรื่องหลอนให้สนุก และน่าสนใจ พร้อมพาทัวร์นิทรรศการรอบพิเศษแบบเอ็กคลูซีฟ ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2567 เปิดเพียง 2 รอบคือรอบ 18.00 น. และ 19.00 น.

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องผีในเชิงคติชนวิทยา อยากรู้ว่าการส่งต่อเรื่องเล่าในเชิงวัฒนธรรมนั้นทำได้อย่างไร และอาจกำลังมองหาไอเดียที่จะพัฒนาเรื่องเล่าที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม ไปสู่คอนเทนต์สร้างสรรค์ที่น่าสนใจได้ ต้องห้ามพลาดกิจกรรมเสวนาหัวข้อเปิดตำนานผีท้องถิ่น: จากคติชนวิทยาสู่การเล่าเรื่องร่วมสมัย” ที่ได้เชิญรองศาสตราจารย์ ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ธี่หยด มาแชร์ความรู้ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นว่าทำไมคนเราถึงสนุกกับการเสพเรื่องสยองขวัญ พร้อมนำเสนอไอเดียการต่อยอดเรื่องหลอนๆ ให้ไปต่อได้ในระดับสากลโดยไม่เสียเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ดำเนินรายการโดยคุณนทธัญ แสงไชย Station Director จาก Salmon Podcast ในวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 – 16.00 น.

แล้วจากเรื่องผีที่เป็นแค่เรื่องเล่า จะต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นที่เป็นมากกว่าเรื่องเล่าได้อย่างไร CEA จะพาทุกคนออกจากโลกความหลอน ไปสู่โลกของเกม ที่เรื่องผีก็มีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะโลดแล่นในโลกใบใหม่ กับกิจกรรมเวิร์กช็อปหัวข้อ ‘ออกแบบเกมจากตำนานผีท้องถิ่น’ ร่วมเรียนรู้กระบวนการออกแบบเกมจากตำนานผีท้องถิ่น พร้อมฝึกฝนเทคนิคการสร้าง Storyline สู่การพัฒนาตัวละครในเกมให้สมบทบาทมากยิ่งขึ้น กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 – 16.00 น. รับเพียง 15 ที่นั่งเท่านั้น

ส่งท้ายนิทรรศการ The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า กับกิจกรรมพิเศษที่จะพาไปชมนิทรรศการนี้ในยามค่ำคืน พร้อมด้วยการแสดง Contemporary Dance
 
โดย HOUND by YUYU ในกิจกรรม GALLERIES’ NIGHT 2024 ในวันสุดท้ายของนิทรรศการ วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้ชมนิทรรศการกับการแสดงพิเศษเพียง 2 รอบคือ 19.00 น. และ 20.30 น. ไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าชม  โดยทั้ง 5 กิจกรรมนี้สามารถเข้าร่วมได้ฟรี ที่ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Gallery, ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง และสามารถเข้าร่วมได้ฟรีทุกกิจกรรม

“ผี” สตอรี่หลอนที่เริ่มจากความตาย แต่เป็น ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ ที่ไม่มีวันตาย

เรื่องผี และความเชื่อท้องถิ่นอาจถูกมองเฉพาะในมุมของความน่ากลัว แต่ที่จริงแล้วเรื่องราวเหล่านี้ยังมีอิทธิพลมากกว่านั้นโดยเฉพาะในฐานะ ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ ที่สามารถต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นผลิตผลใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และยังมีโอกาสพลิกสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นที่สามารถเปลี่ยนตำนานภูตผีในนิทานท้องถิ่น ให้กลายเป็นสื่อร่วมสมัยอย่างการ์ตูนมังงะ หรืออนิเมะเรื่อง “อสูรน้อยคิทาโร่” และยังต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อย่างฟิกเกอร์ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ หรืออย่างของไทยเองก็มีเกม ‘Home Sweet Home’ ที่ดัดแปลงเรื่องผีสู่เกมคอมพิวเตอร์แนวเอาชีวิตรอด ที่ได้รับความนิยมจากคนเล่มเกมทั่วโลก

นิทรรศการ ‘The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า’ จึงไม่ได้เพียงนำเสนอคาแรกเตอร์ผีใหม่ๆให้ชวนตื่นเต้น หากแต่ยังชี้ให้เห็นถึงโอกาส และความเป็นไปได้ที่จะหยิบเรื่องเล่าท้องถิ่นที่เป็นสิ่งใกล้ตัว ที่หลายคนอาจจะยังไม่ได้เห็นคุณค่าว่านี่เป็นหนึ่งในต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่สามารถต่อยอดให้เกิดความน่าสนใจ และจุดขายด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไปสู่ผลงานใหม่ๆที่จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย สะท้อนจากตัวเลขข้อมูลรายงานของสมาคมลิขสิทธิ์นานาชาติ (LIMA) รายงานว่ามูลค่าของธุรกิจลิขสิทธิ์ในปี 2023 จากผลงานสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ ทั่วโลกมีมูลค่ามากถึง 11,765 พันล้านบาท ส่วนในประเทศไทยข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลรายงานว่าในปี 2022 อุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ไทยมีมูลค่ามากถึง 2,025 ล้านบาท แล้วถ้าหากเราสามารถดึงทุนทางวัฒนธรรม มาตีความใหม่ในรูปแบบคาแรกเตอร์ หรือสื่อสร้างสรรค์อื่นๆที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ท้องถิ่น และประเทศได้เพิ่มเติม โอกาสที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ด้วยวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ก็คงไม่ไกลเกินความเป็นจริงอย่างแน่นอน

ร่วมเปิดประสบการณ์ ‘ผี’ ในมิติใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ความน่ากลัว แต่ยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดความเป็นไปได้ใหม่ๆให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยได้ในนิทรรศการ “The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 17  กันยายน – 22 พฤศจิกายน 2567 ตั้งแต่เวลา

10.30 - 19.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Gallery ชั้น 1 (เข้าชมฟรี) ส่วนผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมพิเศษทั้ง 5 กิจกรรม สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนเพื่อสำรองที่นั่งได้ที่ https://www.facebook.com/tcdc.thailand
Find More Love