เช็คอาการโรคหัวใจ โรคใกล้ตัว ที่เกิดได้กับทุกวัย !

heart attact

อาการโรคหัวใจ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าจะเกิดในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ คนไทยอายุประมาณ 30 ปีก็เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจกันแล้ว ซึ่งนอกจากปัจจัยภายในอย่างกรรมพันธุ์และความผิดปกติแต่กำเนิด ปัจจัยภายนอกและความเครียดก็ส่งผลเช่นกัน

ทำความรู้จักชนิดโรคของหัวใจ

ข้อมูลจากแพทย์ระบุว่า “สามารถแบ่งโรคหัวใจได้หลายแบบขึ้นกับว่าจะพิจารณาในแง่พยาธิสภาพ การทำงานที่ผิดปกติ หรือตามชนิดของโรค” ชนิดที่เจอบ่อย ๆ ได้แก่

  • โรคหัวใจล้มเหลว
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกี่ยวข้องกับทางพันธุกรรม(กรรมพันธุ์)
  • โรคลิ้นหัวใจตีบหรือตัน
  • โรคหลอดเลือดแดง ฯลฯ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคหัวใจมีหลายชนิดและยากที่จะจำแนกให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ทางที่ดีคือให้แพทย์เฉพาะทางทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อการระบุโรคได้อย่างถูกต้อง

สถานการณ์โรคหัวใจในประเทศไทยเริ่มน่าเป็นห่วงมากขึ้น ข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลวิมุตชี้ว่าโรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยในทุกปี เฉลี่ยประมาณปีละกว่า 70,000 ราย คิดง่าย ๆ คือ ชั่วโมงละเกือบ 7 รายเลยทีเดียว!

อาการโรคหัวใจ

แพทย์เผยว่า ผู้ป่วยที่มารับการบริการคลินิกโรคหัวใจที่วิมุตอยู่ในช่วงอายุ 30-65 ปี ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบมักเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรังและโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังและโรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วรุนแรง

เนื่องจากความซับซ้อนของโรคหัวใจที่กล่าวไปข้างต้น เราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้สงสัยไว้ก่อน ว่าอาจเข้าข่ายโรคหัวใจ

  • มีอาการใจสั่น
  • ใจเต้นเร็วหรือสะดุด จนเหมือนจะวูบหรือเป็นลม
  • มีอาการเจ็บหน้าอก 
  • เกิดอาการวูบหรือหน้ามืดบ่อย ๆ

อาการวูบนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุที่สำคัญและอันตราย ได้แก่ โรคหัวใจและโรคสมอง อาการวูบจากโรคหัวใจ ได้แก่ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ฯลฯ ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หรือหัวใจเต้นเร็วก่อนเกิดอาการวูบ

(ส่วนอาการวูบจากโรคสมอง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด อาเจียน ชักเกร็ง อาจมีปัสสาวะหรืออุจจาระราดร่วมด้วย) 

สำหรับคนที่ใส่ Smart watch แล้วพบว่าหัวใจเต้นเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที แม้ในตอนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ถือว่ามีความผิดปกติและต้องรีบมาพบแพทย์เช่นกัน

สาเหตุที่ทำให้มีอาการโรคหัวใจ

ข้อมูลงานวิจัยชี้ว่า ผู้ที่มีความเครียดมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นทางตรงจากภาวะความดันโลหิตสูงจนเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือในทางอ้อมคือจากการเกิดโรคอ้วนและการนอนหลับผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหัวใจชนิด Broken heart Syndrome (Takotsubo Cardiomyopathy) ซึ่งสัมพันธ์กับความเครียดโดยตรง เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมน Catecholamine ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การบีบตัวของหัวใจแย่ลง ต้องรักษาโดยการใช้ยาร่วมกับการแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดนั้น
 

แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจในปัจจุบัน

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคหัวใจที่ถูกต้องเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป กับทางโรงพยาบาลที่ได้มาตราฐานและมีศูนย์หัวใจและหลอดเลือดพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือการตรวจที่ทันสมัย เช่น

  • เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • เครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง
  • เครื่องวิ่งสายพาน
  • เครื่องตรวจคราบหินปูนที่หลอดเลือด
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
  • รวมถึงบริการหัตถการต่าง ๆ ทั้งการสวนหลอดเลือดหัวใจและการใส่บอลลูน การใส่อุปกรณ์ปิดผนังหัวใจ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • ไปจนถึงการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดเพื่อการรักษาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งทั้งหมดต้องดำเนินงานโดยทีมแพทย์เฉพาะทางและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยและได้รับผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุด

คนที่มีผู้ป่วยที่มีอาการโรคหัวใจ อยู่ใกล้ตัวควรศึกษาวิธีการดูแล และวิธีปฐมพยาบาล หากพบผู้ป่วยมีอาการวูบให้รีบดูแลเบื้องต้น ดังนี้ หากผู้ป่วยสามารถตอบสนองได้ ให้นอนราบยกขาสูง คลายเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม ใช้ยาดมหรือพัดช่วย แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองหรือไม่หายใจ ให้รีบทำการปั๊มหัวใจ (CPR) และขอความช่วยเหลือ โทร 1669 ทันที

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ. ราชรัฐ ปวีณพงศ์ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลวิมุต

Find More Love