สานต่อความสำเร็จในการนำพากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน “เกื้อกูลLocal Enterprises” หรือ “เกื้อกูลLEs” ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่งคั่ง ยั่งยืน และเกื้อกูลแบบโตไปด้วยกัน ในงาน เกื้อกูลLocal Enterprises Exposition 2023
มหกรรมงานพัฒนาที่สร้างการยกระดับขีดความสามารถ ความสำเร็จ ในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการชุมชนเกื้อกูลLEs ภายใต้แนวคิด “ธุรกิจชุมชน คน-ของ-ตลาด โมเดล กลไกสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน”
โดย หน่วยบริหารและจัดการต้นทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ภายใต้สังกัด สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ สถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2566 ณ ลานร่ำรวย ชั้น 5 เดอะ สตรีท รัชดา
ชวนกันมาทำความรู้จักกับธุรกิจชุมชน “เกื้อกูลLEs” ที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายมิติที่พร้อมมาร่วมแบ่งปันไอเดียดี ๆ ผ่านเกื้อกูลLEs Sharing Showcase ตัวอย่างความสำเร็จของกลไกสร้างธุรกิจชุมชนยั่งยืนจากการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับนักวิจัยในพื้นที่ (Local Knowledge Manager) เช่น ธุรกิจฮิญาบ ภายใต้โมเดลธุรกิจ AHSAN-อาห์ซาน ภายใต้หลักคิด “จากTrademark สู่ Trustmark” โดย ผศ.ดร.มัฮซูม สะตีแม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัตตานี
สะท้อนคุณค่าของผืนผ้าฮิญาบที่แฝงไว้ด้วยวิถีความเชื่อ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และความเคารพในศาสนาอิสลาม โดยเป็นการรวมกลุ่มของสตรีมุสลิมที่มีฝีมือในการตัดเย็บ มารวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้สตรีมุสลิม ได้เรียกศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจในตัวเอง พร้อมทั้งชมการแสดงแฟชั่นโชว์ ฮิญาบผ้าไหมไทยผืนแรกของโลกเป็นครั้งแรก โดยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี
อีกหนึ่งธุรกิจชุมชนตัวอย่าง จากการรวมตัวของทายาทรุ่น 2 ของธุรกิจกะละแมโบราณกว่า 20 เจ้า ที่เปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นพันธมิตร พ่วงการจับมือรวมตัวกับชุมชนเจ้าของสวนกล้วยเพื่อนำใบตองมาห่อกะละแม และประสานพลังกับนักวิจัยในพื้นที่ ดร.คมศักดิ์ หารไชย มหาวิทยาลัยนครพนม กับธุรกิจกะละแมโบราณ…นครพนม…ต่อยอดใบตองห่อกะละแม.. สู่การเป็นATM หน้าบ้าน จากขนมโบราณที่นิยมทำเฉพาะในช่วงเทศกาลงานบุญ มาสู่ขนมของว่าง ของฝากเอกลักษณ์ของนครพนมที่ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีร้านขายกะละแมในนครพนมกว่า 20 แบรนด์ ที่มีรสชาติอร่อยต่าง ๆ กันไป
โดยมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ร่วมที่เป็นตัวตนที่ใครก็แย่งไปไม่ได้ คือ ใบตองรีด ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของกะละแม นครพนม ให้ครบถ้วนทั้งรสชาติที่อร่อย พร้อมกลิ่นหอมเฉพาะตัวจากใบตองตานี ที่ผ่านกรรมวิธีการรีดใบตองด้วยเตารีดโบราณผสานเทคโนโลยีง่าย ๆ กับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่กลายเป็นอีกหนึ่งงานสร้างรายได้หลักให้กับชุมชนหลังฤดูทำนา ให้ได้มีอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ที่มั่งคั่งได้จริง สามารถเปลี่ยนต้นกล้วยหน้าบ้าน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นที่ปลูกง่าย ให้กลายเป็นแหล่งรายได้ ATMหน้าบ้านของคนในชุมชน และยังสามารถทำให้คุณค่านั้นถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้รับรู้ผ่านอัตลักษณ์รสชาติ และ กลิ่นใบตองตานี และยังเป็นการช่วยยกอัตลักษณ์สินค้ากะละแมโบราณ นครพนม ที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้
พร้อมประทับใจกับความตั้งใจประกอบสัมมาชีพของชาวบ้านกับเกาะปูลาโต๊ะบีซู กับกระบวนการ“เปลี่ยนนายทุน…เป็นคุณเกื้อกูล” มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผลงานจากการวิจัยของ ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ บนพื้นที่ที่เดินทางด้วยเรือจากฝั่งต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ออกไปเพียง 500 เมตร มุ่งสู่เกาะเล็ก ๆ ที่มีประชากร 119 ครัวเรือน อาศัยอยู่บนเกาะปูลาโต๊ะบีซู หรือเกาะคนใบ้ ที่ส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากอาชีพประมงพื้นบ้าน และมีวิถีชีวิตที่แบ่งปัน และเกื้อกูลกันแบบสังคมมุสลิม นายทุนเป็นทั้งผู้รับซื้อปลาจากชาวประมง และเมื่อชาวบ้านไม่มีเงิน หรือต้องการซื้ออุปกรณ์ทำกิน ก็จะไปหยิบยืมเงินจากนายทุนเช่นกัน ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย แต่จะเป็นการเกื้อกูลหรือสนับสนุนกันในการประกอบอาชีพ นอกจากแปรดอกเบี้ยเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ที่หามาได้ในแต่ละวันแล้ว ยังแบ่งส่วนหนึ่งให้กลุ่มแม่บ้านบนเกาะนำไปแปรรูปเป็นอาหารทะเลตากแห้ง เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง
แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ กระบวนการวิจัย เกื้อกูลLEs ในครั้งนี้ อาจารย์นักวิจัยใช้ความกล้าหาญในการเข้าไปคุยทำความเข้าใจกับนายทุนว่า อยากช่วยให้ครอบครัวชาวประมงบนเกาะมีรายได้เพิ่ม เพื่อหาทางออกเรื่องรายได้ทางธุรกิจให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และเพื่อมีเงินคืนเงินกู้ด้วยการแบ่งส่วนการขายสินค้า จากการสร้างรายได้เสริมจากการแปรรูปสินค้าประมงจำหน่ายอย่างมีอัตลักษณ์ อันแสดงให้เห็นถึงหัวใจที่ยิ่งใหญ่ในการเกื้อกูลทั้งนายทุน และธุรกิจชุมชนที่ยิ่งใหญ่ด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Local Enterprises’ ได้ที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
โทรศัพท์ 0 2109 5432 ต่อ บพท. หรือ เว็บไซต์ : https://www.nxpo.or.th/A/